มันมีไหมนะ...เวิร์คเอาท์ที่จบในตัว เล่นที่เดียวครบ ไม่ต้องเสียเวลาหลายชั่วโมง ไม่ต้องวางแผนเยอะ ได้ผลจริงๆ เหมาะกับคนไม่ค่อยมีเวลาอย่างเรา?

หลิน เขมิกา และลิลลี่ เขมินี สองเพื่อนรักก็เหมือนกับคุณและเรา ทั้งสองคนเป็นซิตี้วูแมนเต็มตัว ทำงานในสถานบันการเงินระดับโลกอยู่ที่นิวยอร์ค ใช้เวลาส่วนมากในชีวิตหมดไปกับงาน และพยายามออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ ลองมาแล้วทั้งวิ่ง โยคะ พิลาทีส และอีกสารพัดที่ชาวนิวยอร์คบอกว่าดี...ซึ่งก็ได้ผลประมาณหนึ่ง แต่เมื่อทั้งสองได้ลองเข้าบาร์คลาสที่ ฟิซีค 57 นิวยอร์ค...ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป

“มันไม่เหมือนอย่างอื่นเลย ถ้าเราเข้ายิมเราต้องวางแผนว่าวันนี้เราจะเล่นหลัง ไหล่ พรุ่งนี้จะเล่นแขน ขา หรือถ้าวิ่งเราก็ต้องวางแผนการยกเวทเพิ่ม หรือโยคะ พิลาทีส ก็ดีแต่บางครั้งก็อยากได้ความตื่นเต้นเพื่อกระตุ้นตัวเองบ้าง และปัญหาอย่างหนึ่งก็คือ เล่นยังไงให้กล้ามไม่ปูด อยากแข็งแรงแต่ไม่อยากล่ำ ก็ต้องคิดหนักมากว่าท่านี้เล่นได้ ท่านี้ไม่ได้ คือเรื่องอื่นในชีวิตก็ต้องคิดเยอะแล้วน่ะ พอจะออกกำลังกายอยากได้อะไรที่ง่าย ครบ จบ ตอบโจทย์” - หลิน เขมิกา

ฟิซีค 57 มีพื้นฐานมาจากศาสตร์การใช้กล้ามเนื้อของนักบัลเลต์ ซึ่งคิดค้นโดยคุณล็อตเต เบิร์ก นักบัลเลต์อาชีพผู้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง แต่เกิดประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้เธอคิดนำศาสตร์การบริหารร่างกายแบบบัลเลต์มาปรับเป็นการออกกำลังกายเพื่อฟื้นฟูร่างกายตัวเอง เมื่อทำแล้วได้ผลดีจึงเริ่มสอนให้กับคนใกล้ตัว ซึ่งได้รับความนิยมจนเกิดเป็นวิถี ล็อตเต เบิร์ก เมธอด จนเธอเปิดสตูดิโอออกกำลังกายของตัวเอง

หลังจากประสบความสำเร็จอย่างยาวนานในหมู่ชาวนิวยอร์ค สตูดิโอล็อตเต เบิร์ก ก็ถึงเวลาปิดตัวลง ทำให้เจนนิเฟอร์ มานาวี นักธุรกิจสาวแห่งวอลล์ สตรีท ที่เป็นลูกค้าประจำของล็อตเต เบิร์ก เมธอด มายาวนานเกิดเสียดายศาสตร์ที่มีประโยชน์นี้ เธอจึงชักชวน ทันยา เบคเกอร์ อดีตเทรนเนอร์ประจำล็อตเต เบิร์ก สตูดิโอ มาร่วมกันสานต่อเจตนารมย์ โดยถือโอกาสพัฒนาและปรับเปลี่ยนทฤษฎี ล็อตเต เบิร์ก ให้เข้ากับไลฟ์สไตล์สมัยใหม่มากขึ้น และกำหนดเวลาให้ทุกคลาสใช้เวลาเพียงแค่ 57 นาที ฟิซีค 57 จึงถือกำเนิดขึ้นจากสุภาพสตรีสองคนนี้ บนถนน 57 มหานครนิวยอร์ค

“สิ่งที่ทำให้ฟิซีค 57 แตกต่างจากเวิร์คเอาท์อื่นๆ คือ ศาสตร์การใช้กล้ามเนื้อแบบนักบัลเลต์ ซึ่งละเอียดมากถึงมากที่สุด และความสนุกที่หาได้ยากจากการออกกำลังกายอื่น ทำให้เราออกกำลังกายได้แบบเห็นผลจริงโดยไม่รู้สึกเบื่อหรือท้อ และยิ่งเห็นผลก็ยิ่งทำให้มีกำลังใจที่จะดูแลตัวเองต่อไปเรื่อยๆ ที่สำคัญคือได้ทุกอย่างงครบ จบในเวลาแค่ 57 นาที” - ลิลลี่ เขมินี

หากลองสังเกตรูปร่างของนักบัลเลต์อาชีพทั้งชายและหญิง คุณจะเห็นว่ากล้ามเนื้อของพวกเขามีเส้นสายและรูปทรงที่ชัดเจน และเป็นกล้ามเนื้อที่เรียวสวยไม่ปูดโปน เพราะการเทรนกล้ามเนื้อของนักเต้นเป็นการเทรนแต่ละมัดแบบ 360 องศา และด้วยลักษณะการเต้นที่ใช้การเคลื่อนไหวมากกว่าท่าทางในชีวิตประจำวัน จึงทำให้ต้องใช้กล้ามเนื้อหลายมัดที่คนทั่วไปไม่เคยได้ใช้ หรือแม้แต่ไม่เคยรู้ว่ามีกล้ามเนื้อนี้อยู่ในร่างกาย! นอกจากนั้นการยืดเหยียดเพื่อให้ร่างกายยืดหยุ่น หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า “ตัวอ่อน” นั้นยังเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยคลี่กล้ามเนื้อแต่ละมัดให้เรียวยาว ไม่เป็นก้อนแบบนักกล้าม และกล้ามเนื้อที่เห็นว่าเรียวๆ นี่แหละ หลายครั้งทรงพลังยิ่งกว่ากล้ามปูดๆ หลายเท่า 

“ถ้าเข้าคลาสครั้งแรก...หากคุณเคยออกกำลังกายมาก่อนคุณอาจรู้สึกว่าขยับแค่นิดเดียวจะได้ผลได้ยังไง แต่จริงๆ แล้วการขยับเล็กๆ คือการขยับที่เกิดจากการควบคุมกล้ามเนื้อของตัวเราเอง 100% โดยไม่อาศัยแรงส่งจากโมเมนตัมเหมือนเวลายกเวทหนักๆ และกวาดแขนกว้างๆ ซึ่งหลายครั้งเกิดจากการเหวี่ยงน้ำหนักมากกว่าการควบคุมด้วยกล้ามเนื้อจริงๆ ในวิถีของฟิซีค 57 ทุกขณะและทุกองศาของการเคลื่อนไหวต้องเกิดจากการควบคุมกล้ามเนื้อเท่านั้นค่ะ” - หลิน เขมิกา

เมื่อทั้งสองตัดสินใจกลับมาเมืองไทย ฟิซีค 57 จึงเป็นของฝากจากนิวยอร์คที่ทั้งคู่ตัดสินใจพากลับมาด้วย เพราะหากนิวยอร์คเกอร์ผู้ใช้ชีวิตซิตี้ไลฟ์แบบขั้นสุดยังหลงรักการออกกำลังกายนี้ ฟิซีค 57 ต้องมีประโยชน์กับคนไทย โดยเฉพาะชาวกรุงเทพที่มีตารางชีวิตแน่นขนัดอย่างแน่นอนเช่นกัน